ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ของประเทศ ตั้งอยู่บน เขาพนมรุ้ง ในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว คำว่า “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขาใหญ่” ปราสาทตั้งอยู่เหนือจากพื้นที่ราบประมาณ 200 เมตร เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ใช้ประกอบพิธีมาหลายยุคหลายสมัย คาดว่าเริ่มก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 โดยเริ่มก่อสร้างเป็นศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางความเชื่อของการนับถือศาสนา มีความสำคัญเรื่อยมาจนกระทั่งสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 มีพระราชโองการให้สร้างจารึกเพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณขอพระบิดา และทรงถวายที่ดินในสมัยนั้น นับเป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบอย่างแท้จริง เป็นที่ประดิษฐานของ “ศิวลึงค์” มีอาณาเขตกว้างขวางซึ่งพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการต่างๆนำมาถวาย มีการปักหลักเขตที่ดินขึ้นกับเทวสถานพนมรุ้งพร้อมกับการสร้างเมือง สร้างอาศรมให้กับโยคี และนักพรตด้วย ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 17 ได้มีการสร้างปราสาทประธานขึ้น เรื่อยมาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าวรมันที่ 7 ผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานได้มีการดัดแปลงสถานที่เป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานในสมัยนั้น ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยตัวอาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียงรายเป็นเส้นตรง จากทางขึ้นลาดเอียงไปจนกระทั่งถึงปรางค์ประธาน บนยอดประธานอันเปรียบเสมือนสถานที่ประทับขององค์พระศิวะ จากงานก่อสร้างอันหน้าอัศจรรย์นี้ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่าคนในสมัยนั้นสามารถสร้างปราสาทที่เรียงตัวกันเป็นเส้นตรงมุ่งสู่จุดศูนย์กลางที่พระปรางค์ประธานได้อย่างไร เมื่อมาถึงปราสาทนักท่องเที่ยวจะตื่นตาด้วยทางขึ้นที่ทำเป็นตระพังสามชั้น ผ่านพลับพลาชั้นแรก ผ่านทางเดินที่มีเสานางประดับตลอดสองข้างทาง สู่สะพานนาคราชอันอลังการ ซึ่งเปรียบเสมือนทางเดินเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ สุดทางสะพานเป็นทางบันไดขึ้น มีชานพัก 5 ชั้น เมื่อสุดทางเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำสู่ทางเข้าตัวปราสาท มีปรางค์ประธาน เป็นส่วนสำคัญที่สุด ตั้งอยู่ศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน
บริเวณด้านหลังปราสาทหินพนมรุ้ง
โคนนทิ วัวเพศผู้สีเผือก เชื่อว่าเป็นพาหนะของศิวะเจ้า
การเดินทางมายังปราสาทหินพนมรุ้งสามารถเดินทางได้สองเส้นทาง
1. เส้นทางแรกระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวง 208 หรือ ถนนสายบุรีรัมย์ นางรอง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 24 ไป 14 กม. ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็กไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กม.
2. เส้นทางที่สองระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 23 หรือ ถนนสายบุรีรัมย์ ประโคนชัย มีทางแยกจากอำเภอประโคนชัยไปยังปราสาทหินพนมรุใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย เมื่อถึงตัวอำเภอประโคนชัยมีทางแยกไปทางปราสาทหินพนมรุ้งอีกประมาณ 21 กิโลเมตร
[wpgmza id=”211″]